สเปกของเครื่อง Asus Eee PC ช่วงนี้กำลังทำกระแสเครื่องน่าสนใจแห่งปีกันมาก ๆ ที่เมืองนอก แต่สเปกเครื่องบ้านเราดูผ่าน ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเครื่องตระกูลเน็ตบุ๊กที่มีขายกันทั่วไป CPU ยังคงใช้ Intel Atom N455 ความเร็ว 1.66 GHz Single Core พร้อม Hyper Threading เหมือนเดิม หน่วยความจำขนาด 1 GB DDR3 ฮาร์ดดิสก์ขนาด 250 GB ของ Seagate หน้าจอกระจกแบบ LED LCD ขนาด 10 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 600 ไม่มีการ์ดจอแยก ใช้ Intel GMA 3150 ที่มาพร้อม CPU เราลองไปดูการออกแบบตัวเครื่องกันดีกว่าว่ามีอะไรน่าสนใจมากกว่าสเปกพื้นฐานกันบ้าง
รูปลักษณ์ภายนอก
ดูแล้วรู้สึกคุ้น ๆ กันบ้างไหมครับ เครื่อง Asus Eee PC 1018P เครื่องนี้ทำออกมาคล้าย ๆ กับเครื่องแบบ Sea Shell แต่เปลี่ยนวัสดุมาเป็นแม็กนีเซียมแบบเครื่องรุ่น B Series แต่กลับไม่ได้ใช้แม็กนีเซียมทั้งเครื่อง โดยใช้แค่บริเวณฝาและตัวเครื่องด้านในเท่านั้น เป็นการพยายามจะผสมลักษณะเด่นของเครื่องทั้งสองตระกูลเข้าด้วยกัน
รูปลักษณ์ภายใน
เมื่อเปิดเข้ามาด้านในจะเห็นถึงการผสมผสานอย่างแท้จริง บริเวณตัวเครื่องใช้สีพื้นเป็นสีเงินเพื่อสื่อถึงวัสดุที่เป็นโลหะ ส่วนบริเวณจอใช้สีดำมีลายโลหะขัดเหมือนรุ่น B Series คีย์บอร์ดเป็นแบบ Chiclet แต่ก็มีลักษณะการวางตำแหน่งของแป้นพิมพ์เป็นแบบของต่างประเทศ ไม่เหมาะจะเอามาใช้งานกับคนไทย
เปรียบเทียบขนาดตัวเครื่อง
ข้อดีของเครื่องนี้อย่างหนึ่ง คือ แบตเตอรี่ไม่ถูกทำให้นูนออกมาด้านล่างเหมือน Sea Shell ทำให้เครื่องนี้บางลงจนหนากว่ากล่อง DVD เพียงนิดเดียว ไม่ดูหนาและใหญ่เหมือนรุ่น B Series ด้วย
น้ำหนักเครื่อง Asus Eee PC 1018P ประมาณ 1.11 กิโลกรัม
ชั่งน้ำหนักรวมกับพวกอะแดปเตอร์และสายไฟก็ยังหนักไม่ถึง 1.50 กิโลกรัม พกพาสะดวกสำหรับเครื่องตัวนี้
ด้านล่างของเครื่อง
พอพลิกด้านล่างของเครื่องขึ้นมาเราก็จะเห็นพื้นสีขาวล้วน มีช่องระบายอากาศแค่ 8 ช่อง หากเอามาใช้งานในสภาพอากาศร้อน ๆ ของบ้านเราให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีจริงๆ ก็น่าจะทำช่องระบายอากาศให้มากกว่านี้
ช่องระบายอากาศ
ช่องนำอากาศเข้าเพียงจุดเดียวของเครื่อง คิดว่าน้อยเกินไปสำหรับสภาพอากาศร้อน ๆ ในบ้านเรา ใช้ในห้องแอร์อาจจะไม่มีผลเท่าไร แต่ถ้าหากใช้นอกสถานที่ที่แดดแรง ๆ ก็คงแย่
ช่องระบายอากาศด้านข้างก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากเท่าไร
ยางรองเครื่อง
Keyboard
Asus Eee PC 1018P ทำคีย์บอร์ดแบบ Chiclet หรือ Island การวางตำแหน่งแป้นพิมพ์ยังเป็นของเมืองนอก ไม่เหมาะกับลักษณะการพิมพ์ตามมาตรฐานของคนไทย เท่าที่ลองใช้เองเวลาพิมพ์สัมผัสจะกดปุ่ม Enter พลาดอยู่เสมอ
ดูใกล้ ๆ จะเห็นว่ามีปุ่ม “\” ที่ควรจะอยู่ด้านบนของปุ่ม Enter แต่กลับอยู่ในตำแหน่งระหว่างปุ่ม Shift กับปุ่ม Z
ไฟแสดงสถานะไปอยู่ที่แกนพับด้านบน พอเราพับจอลงมาก็จะมองไม่เห็นไฟ ที่จริงด้านนอกของเครื่องก็มีไฟอยู่เหมือนกัน แต่อยู่ที่บานพับด้านหลัง ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนกัน
ด้านขวามีปุ่ม “#” อยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับปุ่ม Enter ซึ่งควรจะยาวออกมา ทำให้กดผิดพลาดได้ง่าย
TouchPad
เนื่องจากวัสดุเป็นโลหะ ถ้าหากใช้ในห้องแอร์มันจะเย็นมาก ๆ ส่วนความฝืดก็พอถูไถไปได้ แต่จะใช้งานสู้แบบพลาสติกด้านไม่ได้ และถ้าปุ่มกดเป็นแผ่นชิ้นเดียวกัน ก็จะทำให้มันแข็งมาก ๆ กดได้ไม่ถึงสิบครั้งก็ต้องใช้เมาส์แทน เพราะกดค่อนข้างลำบาก
ด้านหน้า
ด้านหน้าจะไม่มีพอร์ตหรือไฟ
ด้านซ้าย
ด้านซ้ายของเครื่องประกอบไปด้วย VGA / USB / ช่องระบายอากาศ / Kensington Lock
ด้านขวา
ด้านขวาประกอบไปด้วย SD Card / Headphone / Mic / USB / USB / LAN / สายไฟ
ด้านหลัง
ด้านหลังมาแปลกมากที่เอาไฟแบตเตอรี่กับไฟเปิดเครื่องมาแสดงเอาไว้ด้านหลัง
Webcam
กล้องขนาด 1.3 MP พร้อมฝาปิดเลนส์เพื่อความเป็นส่วนตัว
Speaker
ลำโพงขนาดเล็กแอบอยู่ในแนวบานพับจอ คุณภาพเสียงก็ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กทั่วไป เสียงแหลมได้ใจ ถ้าต้องการคุณภาพเสียงจริง ๆ แนะนำให้ซื้อหูฟังมาเสียบครับ เสียงจะดีขึ้นมาก
แบตเตอรี่
Asus Eee PC 1018P ให้แบตเตอรี่ขนาด 6,000 mAh 44 Wh เยอะดีเหมือนกันนะครับ เดี๋ยวต้องไปลองว่ามันจะอยู่ได้นานขนาดไหน
ป้ายบอกชื่อรุ่นของเครื่อง Eee PC 1018P มาแอบอยู่ด้านหลังแบต
ด้านซ้าย
ที่รองมือด้านซ้ายมีโลโก้ของ Energy Star และ Intel Atom กับ Windows 7 Starter
ด้านขวา
ด้านขวาเป็นที่บรรยายสรรพคุณเครื่องคร่าวๆ เช่น ใช้ Intel Atom มี Bluetooth 3.0 กล้องมีฝาปิดเลนส์ มีโปรแกรมสำหรับซิงค์ข้อมูล
เครื่อง Asus Eee PC 1018P ที่จริงจะลง Microsoft Windows 7 Stater เป็นระบบปฏิบัติการให้ แต่เนื่องจากเครื่องทดสอบมีการลง Windows 7 Home Premium มาให้ ทางทีมงานจึงทำการทำทดสอบบน Windows รุ่นนี้แทน ส่วนใครที่ซื้อเครื่องเน็ตบุ๊กจะเปลี่ยนจาก Windows 7 Starter ไปลงรุ่นอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหาอะไร
ในส่วนของคะแนนทดสอบจาก WEI นั้น CPU ของเราทำคะแนนได้น้อยที่สุด ซึ่งก็เป็นไปตามลักษณะการออกแบบของ CPU ที่ออกมา เพื่อเน้นการพกพามากกว่าการประมวลผล ส่วนที่เป็นรองต่อมาก็จะเป็นเรื่องของการ์ดจอที่ถูกฝังมากับ CPU ทำให้ไม่มีพลังเหมือนพวก NVIDIA ION
โปรแกรม CPU-Z ใช้สำหรับตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของ CPU ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง รวมทั้ง Chipset และหน่วยความจำหลัก
CPU รุ่นยอดนิยม Intel Atom N455 ความเร็ว 1.66 GHz รองรับ Hyper Threading แต่ไม่มี Cache L3 ว่ากันจริง ๆ ในช่วงนี้น่าจะเอาเครื่องที่ใช้ Dual Core ออกมามากกว่า เพราะมีคนที่อยากได้เครื่องเล็ก ๆ แต่มีพลังเพียงพอจะเปิดโปรแกรมพร้อมกันเยอะๆ ในราคาไม่แพงมาก
Chipset คู่ขวัญ Intel Atom ก็ต้อง Intel NM10
เครื่องใส่หน่วยความจำมาให้แล้ว 1 GB DDR3 ถ้าอยากให้ทำงานได้คล่องกว่านี้ก็น่าจะเพิ่มเป็น 2 GB ครับ
โปรแกรม GPU-Z ใช้สำหรับตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของ GPU และ IGP ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง ดูรายละเอียดของอุณหภูมิก็ได้ รองรับเครื่องที่มีสอง GPU ด้วย
การ์ดจอของเครื่องใช้ Intel GMA 3150 ที่มากับ CPU ตัวนี้พอเล่นไฟล์ 720p ได้ แต่สูงกว่านั้นเล่นไม่ได้เกือบหมด ถ้าใครจะซื้อไว้เป็นเครื่องเล่นวิดีโอก็ระวังเรื่องความละเอียดของภาพที่ อยากดูเอาไว้ด้วย ถ้าอยากดูสวย ๆ ละเอียด ๆ ให้ซื้อเครื่องที่มี NVIDIA ION จะดีกว่า
ความละเอียดหน้าจอ
ความละเอียดขอหน้าจอก็เป็นมาตรฐานของเน็ตบุ๊กขนาด 10 นิ้ว คือ 1024 x 600 จอเป็นแบบ LED ผิวกระจก เวลาออกข้างนอกจะมองไม่ค่อยเห็น
โปรแกรม HD Tune ใช้ในการทดสอบความเร็วในการอ่านและการเข้าถึงข้อมูลของฮาร์ดดิสก์แต่ละตัวได้
เครื่องนี้มีความดีความชอบอยู่ที่ฮาร์ดดิสก์ของ Seagate รุ่น Model ST9250315AS หรือ Momentus ขนาด 250 GB ความเร็ว 5400 rpm ทำงานได้เสถียรดีมาก ๆ ความเร็วเฉลี่ยที่ 63 MB/s ก็นับว่าเยอะดีทีเดียว อัตรา Burst Rate (เวลาโหลดหนัก ๆ) ก็สูงถึง 73.5 MB/s เชื่อถือได้จริง ๆ ฮาร์ดดิสก์ตัวนี้
โปรแกรม BatteryMon ใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูลของแบตเตอรี่ที่กำลังใช้กับเครื่อง และวัดระดับการใช้พลังงานออกมาเป็นกราฟได้ด้วย
ข้อมูลของแบตเตอรี่
ขนาดของแบตเตอรี่ที่เขียนไว้ที่ตัวแบตใกล้เคียงกับที่โปรแกรมแสดงผลออกมาประมาณ 6,000 mAh
ระยะเวลาการใช้งาน
ผลการทดสอบแบบเปิดเครื่องทิ้งไว้เฉย ๆ อยู่ได้ประมาณ 7 ชั่วโมง แต่ในชีวิตจริงก็คงไม่มีใครใช้งานแบบนี้
การใช้งานจริง ๆ แบบ Full Load แบตเตอรี่จะอยู่ได้ประมาณเกือบ ๆ 4 ชั่วโมง ก็ถือว่าโอเคสำหรับเครื่องเล็ก ๆ พร้อมแบตเตอรี่ประมาณขนาดนี้
ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่
ระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมงกว่าจะเต็ม
โปรแกรม WirelessMon ใช้ในการวัดความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย
สัญญาณของการ์ด Broadcom 802.11n แกว่งอยู่ในช่วง 20% เวลาใช้งานจริงก็ไม่ได้ช้าผิดปกติครับ อยู่ที่ตัวส่งสัญญาณด้วย
วิธีการทดสอบ ใช้โปรแกรม CPU Burn-In เปิดตามจำนวน Thread ของ CPU ใช้ ATI Tools เปิดภาพสามมิติ และเปิดไฟล์วิดีโอขนาด 1920 x 1080 พร้อมกัน เพื่อให้เครื่องได้ทำการประมวลผลในทุกส่วนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ และวัดผลด้วยโปรแกรม HW Monitor
อุณหภูมิก่อนการทดสอบ
อุณหภูมิหลังการทดสอบ
อุณหภูมิค่อนข้างเย็นเลยทีเดียวสำหรับเครื่อง Asus Eee PC 1018P ตัวนี้ เนื่องจากบอดี้เป็นแม็กนีเซียมเวลาใช้ในห้องแอร์เลยค่อนข้างเย็น ความร้อนขนาด Idle อยู่ที่ประมาณ 50 กว่าองศา ส่วนเวลา Full Load ก็คือมาไม่ถึง 70 องศา แม้ว่าทั้ง CPU และการ์ดจอจะเป็นตัวเดียวกันก็ตาม
เครื่อง Asus Eee PC 1018P เป็นการพยายามผสมผสานลักษณะของเครื่องทั้งแบบ Sea Shell และ B Series ของกลุ่มธุรกิจ แต่ผลการออกแบบไม่น่าประทับใจเท่าที่ควร ถึงแม้ตัวเครื่องจะบางลงและเย็นขึ้น เพราะเปลี่ยนวัสดุมาเป็นแม็กนีเซียม แม้ว่าจะไม่ใช่ทั้งเครื่องก็ตาม แต่การจัดวางตำแหน่งส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องกลับทำได้ไม่ดี ไฟแสดงสถานะที่จะทำให้ผู้ใช้มองเห็นได้ชัดเจนกลับถูกซ่อนหลังจากปิดฝาลง หรือการเอาไฟไปอยู่ด้านหลังก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน เพราะเวลาที่ปิดเครื่องชาร์จ คนส่วนใหญ่ก็ต้องหันด้านหน้าเครื่องออกจากตัวเองอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถมองเห็นไฟได้ทันที ส่วนของคีย์บอร์ดเองก็ต้องนำกลับไปแก้ไขให้เหมาะสมกับลักษณะแป้นมาตรฐานของ คนไทยก่อน เพราะแป้นยังเป็นแบบของเมืองนอกอยู่ ส่วนของ Touchpad เองก็ใช้งานลำบากถึงแม้จะดูสวยงามก็ตาม โดยรวมแล้วเครื่อง Asus Eee PC 1018P เป็นเน็ตบุ๊กที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพแตกต่างจากเครื่องแบบเดียวกันทั่วไป และการออกแบบยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร
ข้อดี
- ตัวเครื่องส่วนใหญ่เป็นแม็กนีเซียมทำให้แข็งแรงและเย็น
- ตัวเครื่องมีความบางเป็นพิเศษ
- CPU ยังคงเป็น Single Core อยู่
- ไฟแสดงสถานะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
- การจัดวางแป้นคีย์บอร์ดไม่เหมาะสมกับลักษณะการพิมพ์ของคนไทย
- ปุ่ม Touchpad แข็งมาก ทำให้กดลำบาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น